ถังบำบัดน้ำเสียคืออะไร เลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ถังบำบัดน้ำเสียคืออะไร เลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน

       อีกปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในที่อยู่อาศัย อย่างปัญหาเกี่ยวกับถังบำบัดเสีย หรือถังแซท ที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์รบกวนไปทั่ว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บ่อยครั้งที่ปัญหากลิ่นรบกวนภายในบ้านเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากถังบำบัดน้ำเสีย หรือถังแซท ที่ถูกฝังเอาไว้ที่บริเวณใต้ดินของที่อยู่อาศัย วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จักกับถังบำบัดน้ำเสียกันครับ ว่ามีกี่แบบ แล้วต้องเลือกใช้อย่างไร

ความสำคัญของถังบำบัดน้ำเสีย
       เนื่องจากถังบำบัดน้ำเสียมีหน้าที่สำคัญในการช่วยรองรับและปรับปรุงคุณภาพของน้ำเสีย ให้กลายมาเป็นน้ำดีที่สามารถนำมาปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการทำงานของถังบำบัดน้ำเสียจะอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ที่เติบโตอยู่ในตัวถังบำบัดน้ำเสียในการช่วยย่อยสลายของเสียและสิ่งปฏิกูลที่อยู่ในถังบำบัด เพราะฉะนั้นแล้วหากถังบำบัดน้ำเสีย หรือ ถังแซท เกิดการสะสมของคราบตะกอน รวมไปถึงเกิดการอุดตันด้วยเศษขยะ กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ถังบำบัดน้ำเสียอุดตันหรือเต็มเนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ เพราะ “ทั้งนี้ระบบจะไม่สามารถย่อยสลายสารอนินทรีย์ได้” รวมไปถึงส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในถังบำบัดน้ำเสียตายได้ โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีสารเคมีเช่น คลอรีน จนส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของถังบำบัดน้ำเสียลดลง ซึ่งผลที่ได้คือคุณภาพของน้ำเสียที่ถูกบำบัดไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานจนส่งกลิ่นเหม็นรบกวนไปทั่ว

ประเภทของถังบำบัดน้ำเสีย
       โดยทั่วไปแล้วประเภทของถังบำบัดน้ำเสีย จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ตามประเภทการทำงาน

• ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ
       ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ เป็นถังบำบัดน้ำเสียหรือถังไฟเบอร์กลาสรูปทรงกลมที่ได้มีการติดตั้งระบบปั๊มอากาศเพื่อช่วยในการเติมอากาศเข้าไปยังภายในตัวถังบำบัด เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มออกซิเจนที่เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในถังบำบัดสามารถนำไปใช้ในการย่อยสลายสิ่งสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้น้ำเสียที่ถูกบำบัดด้วยถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศมีกลิ่นเหม็นที่ลดน้อยลง เช่นเดียวกันกับค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) ที่ลดน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งจะหมายความว่า น้ำเสียที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศนั้นจะมีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นกว่าถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศนั่นเอง

• ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ
       ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ เป็นถังบำบัดที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายเนื่องจากถังบำบัดประเภทนี้มีราคาที่ถูกกว่าถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ แต่อย่างไรก็ตามความเร็วและประสิทธิภาพในการช่วยย่อยสลายของเสียของเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในถังบำบัดก็จะด้อยกว่าและช้ากว่าแบบเติมอากาศด้วยเช่นกัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าน้ำเสียที่ได้มาจากการปรับปรุงคุณภาพด้วยถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ อาจจะมีการส่งกลิ่นเหม็นที่ไม่พึงประสงค์ที่มากกว่าการใช้งานถังเก็บน้ำแบบเติมอากาศทั่วไปได้ เนื่องจากค่าอออกซิเจนละลาย (DO) มีค่าต่ำ

ชนิดของถังบำบัดน้ำเสีย
       ถังบำบัดน้ำเสีย จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ตามประเภทของวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตถังบำบัดน้ำเสียแบบสำเร็จรูป ได้แก่

• ถังบำบัดน้ำเสียชนิดถังพลาสติก
       
เป็นถังบำบัดน้ำเสียที่ถูกผลิตขึ้นมาด้วยพลาสติกชนิดโพลีเอทธีลีน (Polyethylene : PE) คุณภาพสูงจึงทำให้ถังบำบัดน้ำเสียพลาสติกมีคุณสมบัติที่ดีในด้านของความแข็งแรง คงทน สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อความเป็นกรด-ด่างที่ค่อนข้างสูงที่บริเวณใต้พื้นดินได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยป้องกันการซึมผ่านของความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันถังบำบัดชนิด PPE มีการบวนการผลิตขึ้นรูปหลายแบบ ซึ่งรูปแบบที่ดี ควรขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อเพราะให้ความทนทานกว่ากระบวนการผลิตแบบสองชิ้นเชื่อมประกบกลาง

• ถังบำบัดน้ำเสียชนิดถังไฟเบอร์กลาส       
ถังบำบัดน้ำเสียแบบถังไฟเบอร์กลาสเป็นถังบำบัด ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากเส้นใยแก้วที่ถูกนำมาเสริมความแข็งแรงด้วยพลาสติกเรซิ่น จึงทำให้ถังไฟเบอร์กลาสมีความแข็งแรงทนทานเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการแตกหักหรือการรั่วซึมแม้ว่าจะมีการใช้งานมาอย่างยาวนานก็ตาม จึงทำให้ถังบำบัดน้ำเสียชนิดทางไฟเบอร์กลาสเหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นถังบำบัดน้ำเสียในโครงการคอนโดมิเนียม โรงแรม หรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำเสียให้ต้องรองรับในแต่ละวันค่อนข้างมาก

การคำนวณขนาดของถังบำบัดน้ำเสียให้
       หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยถังบำบัดน้ำเสียทั้งแบบเติมอากาศและไม่เติมอากาศ คือการเลือกขนาดของถังบำบัดน้ำเสียมาใช้งานภายในที่พักอาศัยอย่างไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น การเลือกใช้งานถังบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดเล็กจนเกินไปจนทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในถังบำบัดไม่สามารถทำการย่อยสลายสิ่งสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลได้จนหมดสิ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ถังบำบัดน้ำเสียเต็มจนส่งกลิ่นเหม็นได้

       เพราะฉะนั้นแล้วการคำนวณขนาดของถังบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสมกับจำนวนสมาชิกภายในบ้านและความต้องการในการใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยทุกคนสามารถใช้งานถังบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการคำนวณขนาดของถังบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมสามารถคำนวณได้จากวิธีการดังต่อไปนี้

       ขนาดถังบําบัดน้ำเสีย (ลิตร) = จำนวนผู้อยู่อาศัย x 80% (ปริมาณเฉลี่ยของน้ำเสียในแต่ละวัน) x ปริมาณน้ำที่สมาชิกแต่ละคนใช้ในแต่ละวัน (ลิตร) x 1.5 (จำนวนวันโดยเฉลี่ยที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย)

       ยกตัวอย่างเช่น บ้านพักอาศัยหลังหนึ่งมีสมาชิกภายในบ้านทั้งหมด 3 คน และสมาชิกแต่ละคนมีความต้องการในการใช้น้ำในแต่ละวันเฉลี่ยคนละ 200 ลิตร เพราะฉะนั้นแล้วขนาดของถังบำบัดน้ำเสีย ที่เหมาะสมสำหรับบ้านพักอาศัยหลังนี้จะเท่ากับ 3×0.8×200×1.5 = 750 ลิตร

       การเลือกถังบำบัดน้ำเสีย นอกจากจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานแล้ว ควรคำนึงถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆไม่ว่าจะเป็น ข้อต่ออ่อน ฝาถัง และอื่นๆ รวมไปถึงการวางระบบติดตั้งที่ถูกต้อง เพราะถึงแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน แต่หากเกิดปัญหาก็จะส่งผลต่อผู้ใช้งานและยังต้องเสียค่าซ่อมแซม หรือรื้อถอนที่สร้างความวุ่นวายตามมาอีกมากมาย

       ทราบอย่างนี้แล้วผู้อ่านก็คงพอเข้าใจเรื่องของถังบำบัดน้ำเสียมากขึ้นและเลือกใช้ให้ถูกกับงานได้ดีขึ้น และถ้าสนใจผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับถังบำบัดน้ำเสีย สามารถปรึกษาและสั่งซื้อได้จาก เลิศวสิน นะครับ