ความแตกต่างระหว่าง ซิลิโคน อะคริลิค และ PU และวิธีการเลือกใช้งาน

ความแตกต่างระหว่าง ซิลิโคน อะคริลิค และ PU และวิธีการเลือกใช้งาน

ความแตกต่างระหว่าง ซิลิโคน อะคริลิค และ PU และวิธีการเลือกใช้งาน

     ซิลิโคน อะคริลิค และ PU ต่างถูกใช้เป็นกาวที่ถูกใช้ในการยาแนวปิดช่องว่าง หรือรอยต่อ ภายในบ้านหรืออาคารต่างๆ โดยมีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกัน แต่ในการเลือกกาวยาแนวชนิดใดชนิดหนึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆอย่าง โดยต้องคำนึงถึงการนำไปใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นการเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ซิลิโคน อะคริลิค และPU จึงสำคัญ

ซิลิโคน คือ อะไร
     กาวซิลิโคน คือ กาวยาแนวที่มีส่วนประกอบหลักมาจากโพลีเมอร์ซิลิโคน หลังจากแห้งและแข็งตัวจะมีลักษณะแข็งและมีความยืดหยุ่นสูง มีผิวมันวาว กาวซิลิโคนถูกใช้ทั้งในงานทั่วไปในบ้านเรือน และในงานอุตสาหกรรม ตอนใช้งานจะมีลักษณะเหลวแต่เมื่อแห้งแล้วจะแข็งและเหนียว มีทั้งแบบสีใส(ขุ่น) สีขาว สีเทา และสีดำ สามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น การอุดรอยต่อกระจก เซรามิก ในห้องครัว หรือใช้ติดสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ

     ข้อดีของซิลิโคนคือเรื่องความยืดหยุ่นที่สูงมาก สามารถใช้กับรอยต่อหรือรอยแตกร้าวที่เคลื่อนตัวสูงได้ดี แห้งไว อีกทั้งยังทนสภาวะอากาศได้อย่างดี ทนฝน ทนแดด ทนรังสียูวี แต่ข้อเสียของซิลิโคนคือ ไม่สามารถทาสีทับได้ เนื่องจากผิวที่เป็นมันนั่นเอง สำหรับซิลิโคนที่วางขายอยู่ในตอนนี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซิลิโคนชนิดมีกรด และซิลโคนชนิดไม่มีกรด

กาวซิลิโคนชนิดมีกรด (Acetic Cure Silicone)
     จะมีกลิ่นเปรี้ยวฉุนเตะจมูก คล้ายกลิ่นน้ำส้มสายชู เนื่องจากมีส่วนผสมกรดอะซีติกที่ช่วยให้แห้งไว และมีแรงยึดเกาะที่สูงกว่าแบบไม่มีกรด แต่ด้วยความที่มันเป็นกรดนี้เองมันจึงมีฤทธิ์กัดกร่อน จึงไม่เหมาะกับการใช้งานบนวัสดุประเภทโลหะ หรือหินอ่อน ที่อาจทำให้เกิดการผุกร่อนหรือรอยด่าง จึงนิยมในการนำไปใช้ติดกระจกที่มีความทนทานต่อสารเคมีสูง ซึ่งตอนใช้งานก็ควรสวมถุงมือยาง หน้ากาก และแว่นตา เพื่อความปลอดภัยด้วย ซิลิโคนสูตรมีกรดค่อนข้างเป็นที่นิยมเนื่องจากหาซื้อง่ายและราคาไม่แพงครับ

กาวซิลิโคนชนิดไม่มีกรด (Neutral Cure Silicone)
     ทำมาจากซิลิโคน 100% กลิ่นไม่ฉุน จึงเหมาะกับการใช้งานกับวัสดุแทบทุกประเภท เซรามิก หินอ่อน รวมถึงโลหะ กาวซิลิโคนชนิดนี้มีความยืดหยุ่นสูงกว่า อย่างไรก็ตามถึงมันจะดูอเนกประสงค์ แต่จุดที่ชนิดมีกรดทำได้ดีกว่าคือเรื่องความทนทาน และการแห้งตัวที่เร็วกว่า ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่ กาวซิลิโคนชนิดออกไซม์ (Oxime-Based Silicone) และกาวซิลิโคนชนิดอัลโคซี่ (Alcoxy-Based Silicone)

กาวอะคริลิค (ภาษาช่างเรียกแด๊ป)
     กาวอะคริลิค หรือ อะคริลิกซีลแลนท์ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แด๊ป (DAP) ถือว่าเป็นกาวยาแนวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากใช้งานได้หลายวัสดุ เช่น ซีเมนต์ คอนกรีต อิฐ หรือแผ่นพรีแคสต์ และมีราคาต่ำที่สุดในบรรดายาแนวแบบหลอดทั้งหมด
   
     อะคริลิคนั้นสามารถทาสีทับได้ เนื่องจากอะคริลิคมีลักษณะพื้นผิวที่ด้าน และยังมีราคาที่ถูกกว่าซิลิโคน แต่ด้วยความที่อะคริลิคมีส่วนประกอบที่เป็นสูตรน้ำ ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านอะคริลิคได้ (Water Permeable) จึงไม่สามารถนำไปใช้ในที่ที่เปียกหรือแฉะได้ มิฉะนั้นกาวอะคริลิคจะสามารถขึ้นราได้ นอกจากนี้กาวอะคริลิคมีโครงสร้างของโพลีเมอร์ที่หยาบกว่าซิลิโคน จึงทำให้อะคริลิคดักฝุ่นและสกปรกได้ง่ายกว่าซิลิโคนที่มีลักษณะพื้นผิวเรียบมัน และหลังจากแห้งตัว กาวอะคริลิคจะมีการหดตัว และอาจจะมีการแตกได้ถ้าหากรอยต่อมีการขยับตัวมาก เนื่องจากกาวอะคริลิคมีความยืดหยุ่นที่ต่ำ
 
     ฉะนั้นกาวอะคริลิคจึงเหมาะสมกับแก่การใช้งานภายใน ที่ไม่มีการโดนน้ำฝน ไม่มีความชื้น เหมาะกับการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกที่มีการสีทับ และสามารถใช้ได้กับวัสดุที่มีรูพรุนสูง เช่น บนคอนกรีต แผ่น Precast หินธรรมชาติ อิฐ และไม้

กาวพียู
     เป็นกาวยาแนวที่มีความทนที่สุด ยืดหยุ่นสูงที่สุด ในบรรดากาวยาแนวทั้งหมด มีส่วนประกอบหลักเป็นโพลียูรีเทน สามารถใช้งานกับวัสดุได้เกือบทุกประเภท ทั้งปูน เหล็ก ไม้ ไฟเบอร์ซีเมนต์ เซรามิก หิน หรือวัสดุที่มีรูพรุนอื่น ๆ จึงมักเห็นช่างนิยมใช้อุดรอยแตกรอยต่อของหลังคา ที่มีปัญหารั่วซึมบ่อย ๆ ในหน้าฝน หรือใช้ติดรอยต่อระหว่างผนังสำเร็จรูป (Precast) รวมถึงใช้กับรอยต่องานพื้นคอนกรีตได้ด้วย ซีลแลนท์ประเภทพียูแบบนี้สามารถทาสีทับได้ ด้วยคุณสมบัติที่ดีขนาดนี้จึงแลกมาด้วยราคาค่าตัวที่สูงกว่ากาวยาแนวชนิดอื่น ๆ เช่นกัน และ ช่างทั่วไปมักจะเรียกมันว่า ไส้กรอก สาเหตุมาจากมันเป็นแท่งๆห่อด้วยฟอยด์มาเวลาจะใช้งานจะมี ปืนยิง โดยเฉพาะเป็นทรงกระบอกไม่เหมือนกับอะครีลิก หรือ ซิลิโคน ที่สามารถใช้ปืนทั่วไปยิงด้วยกันได้

     ถึงตรงนี้ผู้อ่านก็คงเข้าใจเกี่ยวกับกาวยาแนวแต่ละแบบกันไปแล้ว และสามารถเลือกซื้อไปใช้ให้เหมาะกับงาน ทั้งนี้ กาวยาแนวทุกแบบไม่เหมาะกับการนำไปยาแนวกระเบื้องนะครับ ถ้าจะยาแนวขอแนะนำกาวยาแนวกระเบื้อง จะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานมากกว่า เช่น ความแข็งแรง ไม่จับฝุ่น การป้องกันเชื้อรา กันทนต่อความชื้นและน้ำยาทำความสะอาด รวมถึงเมื่อเทียบพื้นที่ใช้งานกับราคาหากใช้กาวยาแนวแบบหลอดจะสิ้นเปลืองมาก
     ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถสั่งซื้อได้จาก เลิศวสิน นะครับ และยังสามารถปรึกษาเรื่องการใช้งานได้ทางช่องทางต่างๆ ครับ