เทคนิคการเลือกซื้อเครื่องสุขภัณฑ์

เทคนิคการเลือกซื้อเครื่องสุขภัณฑ์

เครื่องสุขภัณฑ์ เป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์ และยังใช้เป็นเครื่องประดับหรือเฟอร์นิเจอร์ให้กับห้องน้ำได้ด้วย ปัจจุบันมีการดีไซน์ รูปลักษณ์ที่สวยงาม แปลกตา ตลอดจนมีสีให้เลือกมากมาย แต่การเลือกใช้ก็ควรให้เหมาะสมกับสถานที่ด้วย

การเลือกซื้อเครื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีอายุการใช้งานยาวนาน เพราะหากเกิดการชำรุดเสียหายบ่อยครั้งแล้ว การเปลี่ยนแต่ละครั้งต้องใช้ค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้นจึงเสนอแนะเทคนิคการเลิกซื้อเครื่องสุขภัณฑ์ ดังนี้

การเลือกซื้อโถปัสสาวะชาย
        ปัจจุบันในท้องตลาดมีโถปัสสาวะชายจำหน่ายทั้งประเภทที่มีแอ่งน้ำกันกลิ่นในตัวและไม่มีแอ่งน้ำกันกลิ่น หากเลือกซื้อประเภทไม่มีแอ่งน้ำกันกลิ่นก็ควรซื้ออุปกรณ์ หรือข้อต่อกันกลิ่นเพิ่ม และที่สำคัญควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะการใช้งานและขนาดของพื้นที่ของห้องน้ำของคุณอีกด้วย

การเลือกซื้อตู้อาบน้ำหรือฉากกั้นอาบน้ำ
        ในการออกแบบห้องน้ำสมัยใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ด้วยการแบ่งแยกส่วนเปียกออกจากส่วนแห้ง ที่นอกจากการใช้งานภายฝนห้องน้ำเป็นไปอย่างสะดวกด้วยแล้ว ยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นหกล้มการเลือกซื้อก็ควรเลือกจาก

        1.พื้นผิวของฉากกั้นอาบน้ำควรทำจากอะคริลิค เพราะมีคุณสมบัติไม่เก็บความชื้น และมีความคงทนนาน
        2.แถบแม่เหล็กเปิด-ปิด ควรเลือกประเภทที่มีแถบเหล็กตลอดแนวทั้งสองด้าน และช่วยเพิ่มแรงดึงดูดให้แนบสนิท จนน้ำไม่สามารถซึมผ่านได้
        3.ล้อเลื่อนที่ดีควรเลือกที่ผลิตจากสแตนเลสจะได้ไม่เป็นสนิมและการเลื่อนเปิดปิดก็เป็นไปด้วย ความราบเรียบ ไม่มีเสียงรบกวน

การเลือกซื้อชักโครก
        ชักโครกในปัจจุบันมีการพัฒนาให้ใช้น้ำน้อยลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการชำระล้างเช่นเดิม จึงช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 30% ของการชำระล้างแต่ละครั้ง แต่การใช้น้ำน้อยที่สุดไม่ได้หมายความว่าการชำระล้างจะดีที่สุดเสมอไป ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหลายอย่างในการเลือกซื้อชักโครก ซึ่งมีหลักสำคัญคือ

        1.ขนาดของท่อประปาที่เชื่อมต่อเข้าตัวสุขภัณฑ์ ควรมีขนาดตรงกับประเภทของสุขภัณฑ์ที่ใช้ เช่น ชักโครกฟลัช วาล์ว ต้องเดินท่อประปาขนาด 1 นิ้ว เป็นต้น
        2.ระยะการวางท่อประปาและท่อน้ำทิ้งควรเหมาะสมกับรุ่นของสุขภัณฑ์ด้วย
        3.อุปกรณ์ประกอบร่วม เช่น หน้าแปลนชักโครก เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ตำแหน่งการติดตั้งชักโครกแม่นยำยิ่งขึ้น และยังช่วยขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการติดตั้งไม่ตรงกันระหว่างตำแหน่งท่อน้ำทิ้งและท่อของส้วมอีกด้วย และที่สำคัญอุปกรณ์ในหม้อน้ำพักของชักโครกควรใช้ให้ตรงกับข้อกำหนดเฉพาะของสุขภัณฑ์รุ่นนั้น ๆ หรือยี่ห้อนั้น ๆ ด้วย
        4.ตรวจดูสภาพภายนอกของตัวชักโครก ต้องไม่มีรอยแตกร้าว หรือบิ่น ตลอดจนดูความสวยงาม ความประณีต โดยสุขภัณฑ์ที่มีราคาแพง ไม่น่าจะพบปัญหาลักษณะนี้
        5.ก่อนตัดสินใจซื้อ ควรให้ผู้ขายทดลองการชะล้าง ของโถชักโครก โดยใส่กระดาษทิชชู่หรือเศษผ้าลงไป สังเกตว่าสิ่งเหล่านั้นลงไปได้อย่างสะดวกหรือไม่ และต้องตรวจดูอุปกรณ์ชุดลูกลอยว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ เช่น โซ่ไม่หลุด ลูกลอยน้ำอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานหรือไม่ ฝา รองนั่งโถส้วมต้องอยู่ในสภาพดี